ราคาน้ำมันในไทยนั้นอ้างอิงมาจากสิงคโปร์ แต่ราคาที่สิงคโปร์นั้นเค้ากำหนดมาอย่างไร ?

หลายท่านคงจะได้ยินจนชินว่า ราคาน้ำมันในไทยนั้นอ้างอิงมาจากสิงคโปร์ แต่ราคาที่สิงคโปร์นั้นเค้ากำหนดมาอย่างไร ? เป็นราคาที่เหมาะสมไหม ? และสามารถปั่นราคากันได้หรือป่าว ? วันนี้จึงอยากมาเขียนให้ฟังคร่าวๆครับ

ขอบคุณทุกท่านนะครับ ทีให้ความสนใจในบทความ "ราคาน้ำมัน Brent และ WTI ต่างกันอย่างไรและควรตามตัวไหน ?" นะครับ มีคำถามเข้ามาเยอะว่าแล้วราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ที่โรงกลั่นบ้านเราใช้นั้น อยู่ในตลาดไหน ? วันนี้จึงมาเขียนให้เข้าใจกันเลยครับ

---------------------------

กลไลราคาน้ำมันดิบดูไบนั้นต่างจาก Brent และ WTI อย่างไร ?

อย่างแรกเลยคือ ราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI นั้นซื้อขายอยู่ที่ตลาด Exchange ส่วน Dubai นั้นไม่มีตลาด Exchange ครับ อย่าเข้าใจผิดว่า Dubai นั้นเทรดในตลาด (Singapore Simex) นะครับ

Brent เทรดที่ตลาด ICE และ WTI ที่ตลาด Nymex ทำให้ราคาของทั้งคู่นั้นสามารถดูราคาได้ง่ายหน่อย เพราะเข้าตาม Web ต่างๆก็จะมีรายงานให้เห็นแล้ว ส่วน Dubai นั้นจะมีระบบซื้อขายคล้ายๆกับ ราคาน้ำมันสำเร็จรูปของสิงคโปร์ โดยราคาจะถูกกำหนดโดย Platts ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลการซื้อขายน้ำมันแล้วนำมาประเมินราคา ประกาศออกมาเป็นรายวัน วันละหนึ่งครั้ง ทำให้เราจะไม่สามารถเห็นราคาดูไบหรือราคาน้ำมันสำเร็จรูปของสิงคโปร์ วิ่งขึ้นลงรายวันได้เหมือนกับ Brent และ WTI

---------------------------

แล้ว Platts ใช้วิธีอะไรในการกำหนดราคามันสิงคโปร์ ให้แฟร์ ?

Platts นั้นจะเปิดตลาดให้ผู้ซื้อและผู้ขายน้ำมันดิบและสำเร็จรูปชนิดต่างๆ เข้ามาทำการซื้อขายกันได้ในตลาดกลาง ทุกๆวันจันทร์-ศุกร์เวลา 16.00 - 16.30น. ของสิงคโปร์ครับ ส่วนวิธีการที่จะพยายามทำให้ราคานั้นแฟร์ที่สุดก็คล้ายๆกับที่ตลาด Exchange พยายามทำกับ Brent และ WTI ที่ได้อธิบายไปในบทความก่อนครับ โดย Platts ใช้วิธีการว่าหากใครก็ตามที่ต้องการเข้ามา เสนอซื้อ (
Bid) หรือ เสนอขาย (Offer) ในตลาดนั้น จะต้องรับส่งมอบน้ำมันตามเกรดและเสป็กนั้นจริงๆ ตามที่ Platts กำหนด 

ทำให้ราคานั้นออกมาเหมาะสมจริงๆ และยากที่จะโดนปั่นได้ เพราะบริษัทน้ำมันต่างๆ ที่เข้ามาร่วมซื้อขายนั้นต้องพร้อมที่จะรับน้ำมันไปในราคาน้ันจริงๆ ยกตัวอย่างเช่นบริษัท A อาจต้องการปั่นราคาน้ำมันเบนซินขึ้น จึงเข้าไปตั้งราคาเสนอซื้อไว้สูงมากเกินกว่าสภาพความเป็นจริงของตลาด บริษัท B และ C ที่มีน้ำมันชนิดนี้ในมือก็สามารถออกไปขาย บริษัท A ที่ราคานั้นได้จริงๆ และบริษัท A ก็ต้องยอมไปรับของและจ่ายเงินตามราคาที่เคยเสนอซื้อไว้จริงๆในวันส่งมอบที่กำหนด ทำให้หากเป็นราคาที่สูงไปก็จะมีผู้เล่นอื่นจ้องที่จะเอาของมาขายทำกำไรอยู่เสมอ ทำให้ Platts คิดว่ากลไกนี้สมบูรณ์ที่สุดแล้วในการใช้กำหนดราคา 

เสร็จแล้วในทุกๆวัน Platts ก็จะมาดูว่าในช่วง 16.00 - 16.30น. นี้ มีการซื้อขายน้ำมันชนิดต่างๆ ที่ราคาไหนบ้าง และเอาราคาเหล่านั้นมาประกาศเป็น Mean of Platts Singapore (MOPS) เป็นราคาน้ำมันที่เราหน้าโรงกลั่นที่เราคงได้ยินกันจนชินครับ

---------------------------

อย่างงี้ถ้าเราต้องการซื้อขายน้ำมันในภูมิภาคเรา เราต้องซื้อแค่ในตลาด Platts สิงคโปร์เวลา 16.00 - 16.30น. เท่านั้นหรือ ?

ไม่ใช่นะครับ ผู้ซื้อผู้ขายน้ำมันสามารถทำการซื้อขายกันได้ตลอดเวลาที่ไหนก็ได้ เพียงแต่ว่าราคาที่ซื้อขายกันนอกเวทีที่ Platts กำหนดขึ้นมานั้น Platts จะไม่ได้นำมาคำนวนในราคารายวันของ MOPS เพราะ Platts ไม่ได้เป็นคนยืนยันราคา และอาจจะมีการซื้อขายที่ราคาไม่สมดุลกับตลาดได้ ทำให้ดีลข้างนอกเหล่านี้ไม่ได้มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันบ้านเราครับ 

---------------------------

เคยสงสัยบ้างไหมว่า เรือน้ำมันต่างๆในรูปของสิงค์โปร์นั้นจะเยอะไปไหน ?

ส่วนหลายท่านที่ไปสิงค์โปร์มา คงจะสงสัยว่าเรือเหล่านี้นั้นจะเยอะไปไหน เค้าไม่ห่วงภาพลักษณ์ของหาดเลยหรือ ? ท่าเรือสิงค์โปร์นอกจากจะเป็นท่าที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ยังมีเรือน้ำมันของบริษัทต่างๆ ที่ลอยลำพร้อมที่จะเข้าไปซื้อขาย ส่งมอบในตลาด Platts นี้อีกด้วยครับ จึงทำให้มีเรือน้ำมันอยู่เต็มไปหมด ถามว่าห่วงภาพลักษณ์ของหาดไหม ? คงห่วง แต่ห่วงไม่เท่ากับโอกาสในการทำกำไร หากตลาดเอื้อครับ 

---------------------------
วันนี้คงอธิบายคร่าวๆแค่นี้ก่อนนะครับ หากใครสนใจกลไกลตลาดน้ำมันอีก ก็บอกกันเข้ามาได้นะครับ จะได้อธิบายให้ลึกกว่านี้ ขอบคุณครับ 

Comments

Popular posts from this blog

"รูปปั้นโอกาส"

IMO 2020 คืออะไร ? การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของตลาดน้ำมัน