IMO 2020 คืออะไร ? การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของตลาดน้ำมัน

เหลือเวลาอีกเพียง 5 เดือนเท่านั้นครับ ! ที่มาตราการ IMO 2020 จะเริ่มบังคับใช้กัน กฎระเบียบ IMO นี้จะเข้ามาช่วยลดการปล่อยกำมะถันหรือก๊าซซัลเฟอร์ (Sulphur) ในการเดินเรือลงจากปัจจุบันที่ 3.5% ให้เหลือเพียง 0.5% เพื่อลดมลพิษทางอากาศให้กับโลกเรา 

แค่ลดมลพิษทางอากาศแค่นี้ เป็นเรื่องที่สำคัญขนาดนั้นเลยหรอ ?

สำคัญมากๆครับ และผมไม่ได้หมายถึงกับแค่กับโลกเราที่ต่อสู้กับภาวะโลกร้อน แต่มาตราการ IMO 2020 นั้นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ของตลาดน้ำมันเลยทีเดียว !

การลดก๊าซซัลเฟอร์นี้จะกระทบต่อทุกๆห่วงโซ่ในตลาดน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็น ผู้ผลิตน้ำมัน เทรดเดอร์ โรงกลั่น ผู้ค้าปลีก เจ้าของเรือทั้งโลก หรือแม้แต่นักลงทุนทั้งหมดครับ ! เรียกได้ว่าจะไม่มีใครในตลาดน้ำมันที่จะรอดพ้นจากการกระทบครั้งนี้เลย

และที่สำคัญที่สุดคือ ทั้งทางเพจหรือนักวิเคราะห์ทั้งโลกนั้น ยังไม่มีใครแน่ใจเลยว่าผลกระทบครั้งนี้จะใหญ่หลวงแค่ไหน ทั้งๆที่เหลือเวลาอีกเพียง 5 เดือนเท่านั้น !



มาตราการ IMO 2020 มีรายละเอียดอย่างไร ?

เริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2020 องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) จะเริ่มมาตราการ IMO 2020 และบังคับให้เรือทุกลำในโลกกว่าหลายหมื่นลำนั้นเปลี่ยนเชื้อเพลิงที่ใช้อยู่ ไม่ให้มีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์เกิน 0.5% จากปัจจุบันที่ 3.5%

ทำให้เรือต่างๆ จะต้องเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันเตาที่มีกำมะถันสูง (High Sulfur Fuel Oil: HSFO) มาเป็นน้ำมันเตาที่มีกำมะถันต่ำไม่เกิน 0.5% (Low Sulfur Fuel Oil: LSFO) หรืออีกทางเลือกนึงก็คือเปลี่ยนเป็นน้ำมันดีเซลสำหรับเดินเรือ (High Speed Diesel/ Marine Gas Oil: MGO) หรือเชื้อเพลิงอื่นที่สะอาดกว่าอย่าง LNG

--------------------

ดูไม่เห็นมีอะไรยากนิ ก็แค่เปลี่ยนเชื้อเพลิงใหม่ ?

ไม่ใช่เรื่องง่ายๆอย่างที่คิดนะครับ เพราะคำถามนั้นคือเราจะหาเชื้อเพลิงนี้มาจากไหน ? เพราะย้อนไปแค่ปีเดียว โรงกลั่นในโลกเรานั้นแทบจะมีไม่กี่โรงที่สามารถผลิตมันเตาที่มีกำมะถันไม่เกิน 0.5% ได้ ! และการจะผลิตนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ โรงกลั่นปัจจุบันมีวิธีรับมือสองทาง

1) ต้องพยายามซื้อน้ำมันที่มีกำมะถันต่ำ หรือน้ำมันดิบที่หวาน (Sweet) มากขึ้น

2) หรือไม่ก็ต้องติดตั้งหน่วยลดกำมะถัน (Desulphurisation Unit) ซึ่งก็ต้องใช้เวลาและเงินลงทุนอย่างสูง 

--------------------

แล้วปริมาณน้ำมันที่ต้องเปลี่ยนนั้นเยอะไหม  ? 

เรามีเรือบนโลกรวมทั้งหมดกว่า 5 หมื่นลำ และเรือทั้งหมดใช้พลังงานน้ำมันประมาณ 3-4 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 3-4% ของการใช้น้ำมันโลก (หรือเทียบเป็นการใช้น้ำมัน 3-4 เท่าของประเทศเราทั้งหมด!) ที่จะต้องทำการเปลี่ยนการใช้ใหม่  นับเป็นปริมาณการใช้ที่เปลี่ยนแปลงเยอะสุดในประวัติศาสตร์ของตลาดน้ำมันเลยทีเดียว และเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบช่วงข้ามคืนจากวันที่ 31 ธันวาคม สิ้นปีนี้ข้ามไปเริ่มปีหน้าครับ 

--------------------

แต่ในเมื่อเราทราบถึงปริมาณการใช้น้ำมันที่เราต้องเปลี่ยน ผลกระทบก็น่าจะคาดเดาไม่ยากสิ ?

ไม่จริงเสมอไปครับ อย่างแรกเลยคือนักวิเคราะห์ทุกๆคนบนโลกพยายามที่จะคำนวนการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงของอุปสงค์และอุปทานน้ำมันตลอดเวลา แต่อย่างที่เราทราบกันดีว่าต่อให้พยายามคำนวนแล้ว ความผันผวนและไม่แน่นอนในราคาน้ำมันนั้นสูงแค่ไหน ทำให้ปากกาเซียนต้องหักมาหลายด้ามแล้ว

พอต้องมาเจอการเปลี่ยนแปลงในสเกลที่ใหญ่ขนาดนี้นักวิเคราะห์ทั่วโลกก็มึนไปเหมือนกัน และขอเติมความยากเข้าไปอีก ในเมื่อเจ้าของเรือต่างๆนั้น มีทางเลือกในการรับมือกับ IMO อยู่ 3 ทาง 

1) เปลี่ยนการใช้น้ำมันมาเป็นชนิดที่ก๊าซซัลเฟอร์ต่ำ อย่างที่เราทราบกันอยู่แล้ว

2) ติดตั้งระบบบำบัดอากาศเสียบนเรือ (Scrubber) ทำให้ยังใช้น้ำมันเตาที่มีกำมะถันสูงได้อยู่ แต่มีค่าลงทุนสูง

3) หรือไม่ก็แอบแหกกฎ แล้วก็ปล่อยกำมะถันลงทะเลไปเหมือนเดิม ! 

ถึงแม้ทางองค์การทางทะเลระหว่างประเทศจะพยายามมีการวัดความร่วมมือของเรือต่างๆ และมีบทลงโทษที่จริงจัง แต่เราไม่ทราบเลยว่าสุดท้ายจะมีผู้ใช้ทำตามกฎมากน้อยแค่ไหน และทั้งสามทางเลือกของเจ้าของเรือก็ทำให้ยากมากๆที่นักวิเคราะห์จะสามารถคาดเดาถึงการใช้ที่เปลี่ยนไป จนทำให้การคาดดารณ์ราคานั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว 

--------------------

IMO 2020 vs Y2K 

ใครบอกว่าทราบว่าผลกระทบจะออกมาเป็นอย่างไรชัวร์นั้นๆ เชื่อเลยว่าคงต้องมี Time machine หรือไม่ก็โกหกเราอยู่แน่ๆ 555 เพราะทั้งตลาดนั้นก็ยังไม่มีใครแน่ใจต่อผลกระทบด้านราคาอย่างจริงจัง หลายๆฝ่ายเดาว่าจะมีผลกระทบทำให้ค่าการกลั่นดีดขึ้นสูงมาก หรือบางคนบอกว่าไม่น่าจะกระทบเยอะเพราะทุกคนได้เตรียมรับมือไว้แล้ว 

คล้ายๆกับเรื่อง Y2K ในปี 2000 ถ้าใครเกิดทันนะครับ ที่ตอนนั้นทุกๆคนเกิดความกังวลต่อระบบคอมพิวเตอร์ทั่วโลกอย่างมาก เตรียมรับมืออย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายเราคงจะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นได้ จนกว่าเหตุการณ์นั้นจะเข้ามาจริงๆ 

--------------------

พูดถึงค่าการกลั่น ทำไมถึงมองว่าจะดีดสูงขึ้นได้ ?

หากเรือส่วนมากเลือกทางออกที่ 1) และเปลี่ยนการใช้น้ำมันมาเป็นชนิดที่ก๊าซซัลเฟอร์ต่ำ โดยเฉพาะการใช้น้ำมันดีเซลสำหรับเดินเรือแทนจะทำให้ค่าการกลั่นดีดขึ้นสูงมาก เพราะความต้องการที่สูงขึ้นจะช่วยดันราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นสัดส่วนกำไรหลักของโรงกลั่นให้สูงขึ้น 

เหตุนี้ทำให้โรงกลั่นทั่วโลกพยายามติดตั้งหน่วยการผลิตเพื่อเพิ่มสัดส่วนน้ำมันดีเซลให้สูงมากขึ้น เพื่อที่จะได้รองรับกำไรตรงนี้มากขึ้น เข้าใจว่าสำหรับโรงกลั่นในบ้านเรานั้น TOP ได้เป็นผู้ที่เชื่อว่าส่วนต่างค่าการกลั่นดีเซลนี้จะขึ้นสูงมากที่สูด จึงได้เตรียมรับมือเรื่องนี้ไว้ภายใต้โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) ต้องรอติดตามดูว่าค่าการกลั่นจะดีดขึ้นสูงมากน้อยแค่ไหน เท่ากับที่คาดหวังกันไว้หรือไม่ 

อีกคำอธิบายว่าทำไมค่าการกลั่นจะต้องปรับกว้างขึ้นแน่นอนนั้น ส่วนตัวชอบเปรียบเทียบโรงกลั่นเหมือนกับศูนย์ล้างรถ หากว่ารถที่เรารับจ้างไปล้างให้นั้นมีมูลค่าแพงกว่า ค่าจ้างในการล้างก็ย่อมแพงขึ้นตามกันไป เช่นค่าล้างรถเฟอรารี่ก็คงแพงกว่าค่าล้างรถธรรมดา ธุรกิจการกลั่นก็เช่นเดียวกัน หากสิ่งที่คุณรับจ้างกลั่นออกมามีมูลค่าแพงขึ้น มีคุณภาพที่สูงขึ้น (กำมะถันน้อยลง) คุณก็ควรจะได้รับผลตอบแทนทางธุรกิจมากขึ้นตามกันไปเช่นเดียวกัน แต่ก็ควรจะควบคุมต้นทุนที่สูงขึ้นให้ดีด้วยเช่นกัน 

--------------------

เขียนมายาวมากๆแล้ว แต่ IMO มันกระทบต่อผู้ผลิตน้ำมันหรือเทรดเดอร์อย่างไร ?

จำทางเลือกของโรงกลั่นข้อที่ 1) ด้านบนได้ไหมครับ ? การจะผลิตน้ำมันกำมะถันต่ำนั้นหากโรงกลั่นไม่ต้องการลงทุนเพิ่มก็ต้องพยายามซื้อน้ำมันที่มีกำมะถันต่ำ หรือน้ำมันดิบที่หวาน (Sweet) มากขึ้น โดยน้ำมันดิบที่ Sweet นี้ก็ไม่ได้มีเพียงพอต่อความต้องการทั้งโลก ทำให้ราคาของเกรดนี้ต้องดีดขึ้นอย่างแน่นอน

การที่โรงกลั่นพยายามจะแย่งซื้อน้ำมันดิบที่ Sweet กันนั้นจะกระทบต่อผู้ผลิตน้ำมันอย่างสูง เพราะแต่ละประเทศผู้ผลิตไม่ได้มีน้ำมันชนิดเดียวกัน ในอนาคตผู้ผลิตในตะวันออกกลางอาจจะเหนื่อยและขายน้ำมันตัวเองได้น้อยลงเพราะน้ำมันในภูมิภาคนี้มีความเปรี้ยว (Sour) หรือกำมะถันสูง อาจต้องยอมลดราคาลงมาสู้กับน้ำมันจาก สหรัฐ ยุโรป หรือ แอฟริกา ที่มีความ Sweet และเป็นที่ต้องการมากกว่า 

ทางเทรดเดอร์เองก็ต้องเจอความท้าทาย สูตรต่างๆที่เคยทำการค้าขายอยู่นั้นก็จะต้องเปลี่ยนใหม่หมด ต้องพยายามรับมือกับการไหลเวียนของน้ำมันทั่วโลกที่อาจเปลี่ยนแปลงไป 

--------------------

และนี่ก็คือที่มาตราการ IMO 2020 ยังมีอีกหลายๆรายละเอียดที่ยังไม่ได้ลงไปแตะนะครับ ขอเขียนย่อๆแบบนี้ก่อนในโพสต์นี้ ใครสนใจในเรื่องนี้ก็ลองคอมเม้นแสดงความเห็นกันเข้ามาได้นะครับ และหากมีประโยชน์ก็รบกวนแชร์เป็นกำลังใจให้กับแอดมินด้วยนะครับ =) จะได้ออกตอนที่สองมาอีก ขอบคุณมากๆครับ 

ที่มา: Bloomberg , Reuters , CNBC  

Comments

Popular posts from this blog

"รูปปั้นโอกาส"

ราคาน้ำมันในไทยนั้นอ้างอิงมาจากสิงคโปร์ แต่ราคาที่สิงคโปร์นั้นเค้ากำหนดมาอย่างไร ?