สงครามการค้า ทำไมทรัมป์ถึงอยากได้สงครามนี้ ??

เป็นหัวข้อใหญ่ที่สุดในตลาดมาหลายวันแล้ว สำหรับสงครามการค้าของสหรัฐและจีน ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 10 เดือนแล้ว และไม่รู้ว่าจะยุติเมื่อไหร่

เมื่อถามความเห็นผู้เชี่ยวชาญของโลก อย่าง วอเรน บัฟเฟตต์ เมื่อวานนี้ก็ได้ให้สัมภาษณ์บอกว่าสงครามการค้านั้นไม่ดีกับโลกเลย และวันนี้ทางหัวหน้า IMF ก็ได้ออกมากล่าวอีกรอบว่า สงครามที่ยืดเยื้อนี้กำลังทำร้ายระบบเศรษฐกิจของโลกอยู่ ! แลัวทำไมทางทรัมป์ถึงได้ก่อสงครามนี้ขึ้นมาล่ะครับ ?

คำตอบสั้นๆคือ - ไม่ดีกับโลกไม่เป็นไร ขอให้ดีขึ้นกับอเมริกาก็พอ !

----------------------------

กำแพงภาษีมีอะไรดีด้วยหรือ ? 

เราคงไม่ต้องถึงกับให้นักลงทุนที่เก่งที่สุดในโลกอย่าง บัฟเฟตต์ หรือ หัวหน้าหน่วยงานเศรษฐกิจของโลกอย่าง IMF มาอธิบายบอกเราหรอกนะครับ ว่าสงครามการค้าหรือกำแพงภาษีที่แต่ละประเทศเพิ่มสูงขึ้นนั้น ย่อมไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของโลก ทุกๆคนก็คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า สงครามนั้นไม่ได้ทำให้โลกดีขึ้นเลย

กำแพงภาษีก็เช่นกัน ไม่ได้ทำให้โลกดีขึ้นเลย ตอนเราเรียนเศรษฐศาสตร์กันมาสิ่งแรกที่ครูสอนก็คงเป็น ระบบเศรษฐกิจโลกนั้นจะสมดุลที่สุดก็คือการซื้อขายอย่างเสรี "Free Trade" การไม่มีกำแพงภาษีระหว่างกัน ประเทศไหนผลิตอะไรได้ถูก ปลูกอะไรได้เยอะก็เอาออกมาขาย มาแลกกันกับประเทศอื่นๆที่ขาดแคลนสิ่งนั้น ใครขาดอะไรก็พร้อมที่จะรับของประเทศอื่นมา แลกกับสิ่งที่ตัวเองผลิตได้ถูก เมื่อทุกคนพร้อมที่จะมาแลกของกันอย่างเต็มที่ ระบบเศรษฐกิจก็จะเกิดมูลค่าเพิ่มสูงสุด ! หรือเรียกว่าเกิดประโยชน์สูงสุดต่อโลกนั้นเอง

แต่ในความเป็นจริงแล้ว จะปล่อยให้ประเทศอื่นๆเค้าเอาของที่เค้าผลิตได้เก่งกว่าเรา ถูกกว่าเรา เข้ามาแย่งตลาดในประเทศเราไปหมด ต่อให้เราซื้อได้ถูกแต่ก็อาจจะไม่ดีเสมอไปเพราะเราเองก็อาจจะอยากส่งเสริมธุรกิจนี้ในบ้านเราเอง อยากจะให้มีการสร้างงานในประเทศด้วย นี่คือที่มาว่าทำไมเราถึงต้องตั้งกำแพงภาษีเข้ามากันของจากประเทศอื่น

การตั้งกำแพงภาษีขึ้นมานี้ ต่อให้มันลดประโยชน์สูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจโลก แต่มันก็สามารถทำให้เราควบคุมสิ่งที่ประเทศเราต้องการได้ สามารถบริหารประเทศไปในทิศทางที่เราต้องการได้ ส่งเสริมภาคธุรกิจต่างๆที่เราต้องการได้ จึงเป็นที่มาของการตั้งกำแพงภาษี และทรัมป์เองก็ใช้คอนเซ็ปต์ประมาณนี้

---------------------------

แล้วทำไมทรัมป์ถึงก่อสงครามนี้ขึ้นมา ?

หลายๆปีที่ผ่านมาสหรัฐนั้นเสียดุลการค้าให้กับจีนเป็นจำนวนมาก เข้าใจว่าปีละประมาณ 3 แสนล้านเหรียญ แต่นั้นก็ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทรัมป์ประกาศสงครามกับจีน 

ดุลการค้าที่สหรัฐขาดอยู่นั้น และเงินที่เสียให้กับจีนปีละหลายๆแสนล้านนั้น จริงๆแล้วไม่ใช่สิ่งที่แย่เลย เพราะหากคนอเมริกาจะต้องมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สิ่งของที่นำเข้ามาจากจีนนั้น การซื้อจากจีนนั้นจะเป็นที่ๆถูกที่สุด ถูกกว่าซื้อจากคนอื่น และก็ถูกกว่าผลิตเองด้วย ! 

แล้วทำไมทรัมป์ถึงต้องเริ่มขึ้นภาษีสินค้าจีนครั้งแรกเมื่อกลางปีที่แล้ว ? การที่สหรัฐขึ้นกำแพงภาษีขึ้นมา นอกจากจะทำให้คนสหรัฐต้องใช้ของที่แพงขึ้นแล้ว ยังจะทำให้จีนต้องไปขายของเหล่านั้นให้คนอื่นๆที่อาจมีความต้องการน้อยกว่า ด้วยราคาที่ถูกลง หรือไม่จีนก็ต้องขนส่งของไปไกลขึ้น ทำให้โดยรวมแล้วระบบเศรษฐกิจจึงไม่เกิดมูลค่าเพิ่มสูงสุด  

คำตอบก็คือ - ทรัมป์ทราบดีว่าจีนจะเจ็บตัวจากสงครามครั้งนี้มากกว่าสหรัฐ และ จีนมีสิ่งที่ทรัมป์ต้องการ ทรัมป์จึงเริ่มสงครามเพื่อที่จะบีบให้จีนยอมเจรจาด้วยและเอาของสิ่งนั้นมาแลก 

สิ่งต่างๆเหล่านั้นที่จีนมีคือ ตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผู้คนกว่า 1.4 ล้านคน เศรษฐกิจที่กำลังโตเรื่อยๆ และโอกาสทางธุรกิจหลายอย่าง ที่ตอนนี้ทางจีนกำลังมีกฏหมายกันไม่ให้สหรัฐเข้ามาลงทุนได้อย่างเสรี ทางทรัมป์ต้องการให้สหรัฐมีสิทธิตรงนี้มากขึ้น ประกอบกับจีนเองก็ได้ขโมยสินทรัพย์ทางปัญญาจากอเมริกาไปเยอะจากฐานลงทุนในประเทศจีน ทำให้ทรัมป์อยากต่อรองใหม่เพื่อไม่ให้เสียดุล 

---------------------------

สรุป - ทางทรัมป์นั้น จริงๆไม่ต้องการจะได้การค้าอย่างเสรี หรือ Free Trade หรอก เพราะการค้าอย่างเสรีจะมีการแข่งขันสูง ทุกๆคนได้สิทธิเท่าเทียมกันมันเหนื่อย แต่ทางทรัมป์คงอยากจะได้สิทธิในจีนแต่ประเทศเดียว จึงสร้างการต่อรองแบบตัวต่อตัว (bilateral) ขึ้นมา

ถึงแม้ว่าการขึ้นกำแพงภาษีระหว่างกันครั้งนี้จะทำร้ายเศรษฐกิจไปทั้งโลก แต่ทางทรัมป์คงไม่สนใจเพราะการสูญเสียของ "โลก" นี้อาจสร้างประโยชน์ให้อเมริกามากขึ้น หากเค้าชนะการต่อรองกับจีน และการนี้อาจจะทำให้ทรัมป์สามารถทำตามคำพูดที่ว่า Make America Great Again (MAGA) ได้จริงๆอย่างที่เค้าสัญญาไว้ และเพื่อคะแนนเสียงการเลือกตั้งรอบหน้า ทำให้ทรัมป์จึงออกมากดดันจีนอย่างหนักตอนนี้ครับ  



Comments

Popular posts from this blog

"รูปปั้นโอกาส"

ราคาน้ำมันในไทยนั้นอ้างอิงมาจากสิงคโปร์ แต่ราคาที่สิงคโปร์นั้นเค้ากำหนดมาอย่างไร ?

IMO 2020 คืออะไร ? การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของตลาดน้ำมัน