4 ปัจจัยสำคัญ ที่จะกำหนดทิศทางตลาดน้ำมันภายในสิ้นปีนี้คือ ?


อีกไม่นานราคาน้ำมันจะถึงจุดที่ต้องตัดสินใจแล้วว่าราคาจะขึ้นหรือลง ! และมี 4 ปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินทิศทางราคาดังนี้ครับ .... 


ราคาน้ำมันในช่วง 1 ปีที่ผ่านมานั้นอยู่ในรูปแแบบราคาทางเทคนิคที่เรียกว่า Technical Wedge อย่างชัดเจนมากเลยนะครับ (ตามกราฟ)

โดย 2 เรื่องที่กำลังยื้อกันไปมาอยู่ในตลาดก็คือ ความเสี่ยงด้านอุปทานที่หายไป (Supply Tightness) ที่กำลังซัพพอทตลาด หรือแรงกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจและสงครามการค้า ที่กำลังดึงราคาลงมาทุกๆครั้ง

แต่ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งปัจจัยทางเทคนิคและปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) กำลังจะชี้ให้เราได้เห็นว่าใครจะเป็นผู้ชนะจากการต่อสู้อันยืดเยื้อในครั้งนี้ครับ (มีสรุปด้านล่างสำหรับคนที่ไม่มีเวลาครับ)

----------------------------

มาพูดถึงเรื่องที่มาของ Wedge Pattern กันก่อน

จะเห็นได้ว่าราคาแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี ด้วยเรื่องของความเสี่ยงด้านอุปทานน้ำมันที่หายไป (Supply Disruption) เมื่อตุลาคมปีที่แล้ว จากการที่ตลาดกลัวเรื่องการคว่ำบาตรของอิหร่าน ในขณะที่ราคาโดนเทขายมาแตะจุดต่ำสุดของปีด้วยเรื่องความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจและ Recession จนทำให้ราคาโดนเทขายอย่างหนักเมื่อปลายปีที่แล้ว

และเรื่องทั้งสองด้านนั้นก็สู้กันมาอยู่ตลอด เมื่อไหร่ที่มีปัญหาด้านอุปทานอย่าง ซาอุโดนโจมตี , เรือน้ำมันโดนระเบิด หรือแม้แต่การลดการผลิตของโอเปกก็ตาม ราคาก็จะดีดขึ้นเรื่อยๆ

แต่เมื่อไหร่ที่มีข่าวด้านเศรษฐกิจ สงครามการค้าเจรจาไม่บรรลุ , ตัวเลขภาคการผลิตทั้งโลกที่ชะลอตัวลง , ปัญญาเรื่อง Brexit หรือเศรษฐกิจในยุโรป ทั้งหมดก็ต่างเป็นตัวดึงให้ราคาน้ำมัน (และหุ้น) ปรับตัวลงมาเป็นระยะๆ

----------------------------

เมื่อเกิด Wedge Pattern แล้ว แปลว่าตลาดกำลังคิดอย่างไร ?

เมื่อไหร่ที่เกิด Wedge Pattern นั้นแปลว่า "ตลาดไม่แน่ใจว่าควรจะไปทางไหนครับ" แปลว่ามีปัจจัยบวกและลบเท่าๆกันในตลาด และทั้งผู้ซื้อและผู้ขายไม่มีแรงดันราคาออกจากกรอบได้หากไม่มีปัจจัยไหนชนะอย่างชัดเจน ดังนั้นจนกว่าจะมีปัจจัยบวกหรือลบที่แรงพอที่จะเปลี่ยนใจอีกฝ่ายให้มาเข้าร่วมได้ ตลาดก็จะติดกรอบที่แคบลงเรื่อยๆ

ยกตัวอย่างเช่น: หากกลุ่มคนที่คอยเทขายในระดับแนวต้าน จะไม่ขายเหมือนเมื่อก่อนแล้วเพราะปัจจัยในตลาดได้เปลี่ยนมาเป็นบวกอย่างชัดเจน ราคาก็จะสามารถเปลี่ยนไปเป็นขาขึ้นได้ และคราวนี้จะเป็นขาขึ้นที่รุนแรงด้วย

ตามปกติแล้วการหลุดออกจากกรอบนั้น ยิ่งอยู่ใน Wedge Pattern นานเท่าไหร่ยิ่งจะมีแรงดันไปในทิศทางนั้นมากขึ้นเท่านั้นเมื่อหลุดออกจากกรอบ ! โดยคราวนี้ Wedge Pattern ได้ยืนอยู่นานถึง 4 ปีแล้ว ! ถือว่านานมากๆ

แปลความหมายได้สองอย่างคือ

1) แค่ข่าวรายวันอย่างสต็อก EIA , การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือน คงไม่มีแรงที่จะทำให้ตลาดหลุดออกจากกรอบได้ เพราะปัจจัยเหล่านี้เล็กไป

2) หากมีปัจจัยใหญ่ๆ ที่ทำให้ราคาหลุดจากกรอบได้ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางของราคารอบใหญ่เลยทีเดียว อาจจะเป็นตัวตัดสินทิศทางราคาในปีหน้าทั้งปีเลยก็เป็นได้

----------------------------

แล้ว 4 ปัจจัยที่ตลาดกำลังรอดูอยู่นั้น มีอะไรบ้าง ?

ขอเริ่มไล่ตั้งแต่ปัจจัยที่ผมมองว่าน่าจะเป็นตัวตัดสินทิศทางได้มากที่สุดก่อนเลยนะครับ

1) การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน !

แน่นอนครับ ตลาดคงไม่สามารถจะหลุดออกจากกรอบได้ จนกว่าจะได้เห็นความชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะต่อให้มีข่าวบวกทางด้านอุปทานแค่ไหน จะเห็นได้ว่าตราบใดที่ข่าวเรื่องการเจรจายังไม่บรรลุ ตลาดก็จะโดนเทขายกลับมาได้อยู่เสมอ (ผู้ซื้อก็กลัว เข้าซื้อเร็วแล้วก็ออกเร็ว)

การนัดเจอของทรัมป์และสีจิ้นผิง ที่ประเทศชิลีในเดือนหน้า น่าจะถือเป็นเวลาที่ประจวบเหมาะให้ตลาดได้ตัดสินทิศทางราคาได้ครับ หากมีการเซ็นสัญญายุติภาษีระหว่างกันจริงๆ ปีหน้าเราคงเห็นราคาที่ 70 เหรียญ ++ แน่ครับ

2) ความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)

หากเข้าสิ้นปีแล้วการเจรจาการค้ายังไม่บรรลุ สิ่งที่ตามมาอีกอย่างคือ โลกเราจะมีโอกาสเผชิญ  Recession ในปีหน้าสูงขึ้น ทุกวันนี้ความกลัวต่อเศรษฐกิจโลกจะถดถอยในปีหน้านั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ และหากไม่มีสัญญาการค้าที่บรรลุ ความกลัวก็จะยังคงสูงขึ้นไปเรื่อยๆต่อไป

และวันที่ความกลัวสูงพอ ประกอบกับราคาโดนเทขายจนหลุดกรอบ ก็จะยิ่งเป็นผลกระทบลูกโซ่ให้ราคาโดนเทขายอย่างหนักแน่ครับ เชื่อว่าคงไม่ต้องรอให้ถึงปีหน้า ช่วงปลายปีนี้มีความเสี่ยงสูงต่อการเทขายทีเดียว

3) การประชุมโอเปกในวันที่ 5-6 ธ.ค.นี้

โอเปกนั้นเป็นเสมือนเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่ในหนังสำหรับตลาดน้ำมันครับ ในวันที่ทุกอย่างดูเหมือนจะมึดมัวมาก ความหวังของตลาดดูเหมือนจะไม่เหลือ ฝั่งคนเทขาย (ผู้ร้าย) นั้นดูเหมือนจะเป็นฝ่ายชนะแน่ๆ แต่เหล่าโอเปก (ฮีโร่) ก็จะหาทางออกมาดันตลาดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะกี่ครั้งก็ตามในอดีต

แล้วการประชุมสิ้นปีนี้ก็เช่นเดียวกัน หลายๆฝ่ายมองว่า โอเปกนั้นได้ลดกำลังการผลิตลงมามากเกินไปแล้ว ลดไปมากกว่านี้คงสร้างความไม่พอใจให้สมาชิกแน่ๆ ต้องมีหลายๆคนขอออกจากกลุ่มอย่างเอกวาดอร์แน่ๆ

แต่เราจะมองข้ามความสามารถในการเซอร์ไพรส์ตลาดของโอเปกไม่ได้ครับ (ถึงแม้จะไม่เซอร์ไพรส์เท่ากับทรัมป์ก็ตาม) เรียกได้ว่าสิ้นปีนี้หากมีการลดการผลิตอีกครั้งใหญ่ ไม่ว่าเศรฐกิจจะแย่จนการใช้น้อยลงก็ตาม ราคาอาจจะยังยืนอยู่ในกรอบที่สูงได้ครับ

4) ความไม่สงบในตะวันออกกลาง

เรื่องนี้ผมอาจจะเขียนอีกบทความแยก เพราะท่านทีี่ไม่คุ้นกับตลาดน้ำมันอาจจะไม่เข้าใจว่าทุกวันนี้ความตึงเครียดในตะวันออกกลางสำคัญอย่างไร หากไม่ได้กระทบกับปริมาณการผลิตจริงๆ จะส่งผลได้อย่างไรบ้าง ? เดี๋ยวจะมาอธิบายยาวๆให้เข้าใจกัน

แต่แบบสั้นๆคือ หากความตึงเครียดในตะวันออกกลางส่งผลบานปลายให้กระทบกับการผลิตได้ยาวนานกว่าครั้งโรนยิงซาอุที่เราเห็นกัน หรือกระทบต่อการขนส่งทางทะเลและท่อ (ตอนนี้ตุรกีมีความเสี่ยงท่อส่งออกน้ำมันโดนคว่ำบาตรอยู่สูงมากเลยทีเดียวครับ) ก็มีสิทธิทำให้ราคาหลุดมาทางกรอบบน และกองทุนที่เคยขายอยู่ อาจต้องตัดขาดทุน (cut loss) และกลับมาซื้อ จนเกิดเป็นเทรนด์ขึ้นได้ครับ

0 - อื่นๆ) จริงๆเรื่องของการผลิตในสหรัฐนั้น จะเป็นเรื่องสำคัญที่จะตัดสินทิศทางราคาในปีหน้า เพราะถ้าสหรัฐส่งออกไม่ได้ตามคาดจริงๆ ราคาอาจจะเป็นเทรนด์ขึ้นได้เพราะโอเปกเตรียมลดการผลิตรอรับมือกับอุปทานจากสหรัฐแล้ว  แต่เรื่องนี้คงไม่ได้เป็นตัวตัดสินทิศทางราคาในช่วงสิ้นปีนี้ครับผมจึงตัดออกไปก่อน

และอีกเรื่องคือค่าเรือขนส่งน้ำมัน Freight - ถ้าหากยังขึ้นสุงต่อเนื่องนานๆ -> กระทบต่อต้นทุนโรงกลั่น -> ต้องการลดการผลิต -> ความต้องการใช้น้ำมันน้อยลง -> ราคาน้ำมันก็จะโดนกดดันลงมาได้ แต่ที่ผ่านมาสองวันนี้เราเห็นตลาดเรือน้ำมันปรับตัวลดลงมาเยอะแล้วจึงไม่ได้คิดว่าจะเป็นปัจจัยที่กระทบไปจนสิ้นปีได้ครับ

----------------------------

สรุป ! สิ้นปีนี้ทั้งทางเทคนิดและปัจจัยพื้นฐานชี้ชัดว่าตลาดน้ำมันกำลังจะเข้าสุู่ช่วงการเลือกทิศทางแล้ว ตอนนี้คงยังไม่มีใครรู้ชัดแน่ๆว่าราคาจะไปในทิศทางไหน (เว้นแต่ว่าคุณคือ ทรัมป์ , สี จิ้นผิง , โอเปก หรือ อิหร่านเองเท่านั้น) ดังนั้นจึงควรติดตาม 4 ปัจจัยด้านบนอย่างใกล้ชิด และทำความเข้าใจ Wedge Pattern ก่อนที่จะเลือกเทรดในปริมาณที่ใหญ่ครับ


Comments

Popular posts from this blog

"รูปปั้นโอกาส"

ราคาน้ำมันในไทยนั้นอ้างอิงมาจากสิงคโปร์ แต่ราคาที่สิงคโปร์นั้นเค้ากำหนดมาอย่างไร ?

IMO 2020 คืออะไร ? การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของตลาดน้ำมัน