เราอาจจะไม่ได้เห็นราคาน้ำมันดิบ Brent สูงกว่า 70 เหรียญอีกต่อไปแล้วในปีนี้

เราอาจจะไม่ได้เห็นราคาน้ำมันดิบ Brent สูงกว่า 70 เหรียญอีกต่อไปแล้วในปีนี้

เมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน ทางเพจเคยไปให้สัมภาษณ์กับ CNBC Thailand ว่าราคาน่าจะเข้าสู่ช่วงเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ และถึงแม้ว่าราคาน้ำมันจะยังนิ่งๆ และไม่เคยหลุดออกจากกรอบที่วางไว้ แต่ตอนนี้ทางเพจได้มีมุมมองใหม่ว่าราคาอาจจะไม่สามารถทะลุขึ้นไปเกินระดับ 70 เหรียญได้อีกแล้วครับ

ด้วยเหตุผลต่างๆดังนี้

1) เรื่องคว่ำบาตรอิหร่าน

บอกได้คำเดียวเลยว่า สาเหตุที่ราคาน้ำมันในช่วงสองปีที่ผ่านมาเคยดีดขึ้นไปสูงกว่าระดับ 70 เหรียญได้นั้น มาจากการที่สหรัฐคว่ำบาตรน้ำมันอิหร่านกว่า 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงต้นไตรมาส 4 ปีที่แล้ว หรือว่าช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

หากไม่มีเรื่องคว่ำบาตรอิหร่าน ด้วยอุปทานที่ล้นออกมาจากอเมริกา ไม่มีทางเลยที่ราคาน้ำมันจะดีดขึ้นไปได้สูงขนาดนั้น ทั้งหมดมาจากความกลัวและความคาดหวังว่าอุปทานอิหร่านจะหายไป และล่าสุดนี้ทางสหรัฐก็ออกมาให้ข่าวว่าอิหร่านอาจจะยอมเจรจาเรื่องการคว่ำบาตรนี้แล้ว หากอิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันได้อีกครั้งจริงๆ ราคาจะหลุดระดับ 60 เหรียญแน่ๆครับ และตอนนี้ผมขอมองว่าเราอาจกำลังเดินไปสู่ทิศทางนั้นมากกว่า 70 เหรียญ

2) กลุ่มโอเปกและพันธมิตรไม่ได้ลดอุปทานออกไปเพียงพอ

กลุ่มโอเปกนั้นถือว่าทำดีแล้ว ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาก็ลดลงอุปทานลงไปรวมกันเกือบ 2 ล้านบาร์เรลต่อวันได้อย่างรวดเร็ว แต่แค่นั้นจะเพียงพอไหม ? คำตอบคือยังไม่พอแน่ๆครับ เพราะระดับสต็อกน้ำมันทั่วโลกยังคงสุงขึ้นเรื่อยๆอยู่ โดยเฉพาะ OECD Stocks ที่กำลังเพิ่มขึ้นมา 3 ไตรมาสติดแล้ว เป็นหลักฐานเลยว่าทุกวันนี้ทั่วโลกยังผลิตน้ำมันออกมาเกินความต้องการของโลกอยู่

และปีหน้าสหรัฐและประเทศนอกกลุ่มโอเปกก็มีแนวโน้มที่จะผลิตน้ำมันออกมาเพิ่มกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งๆที่การใช้จะโตขึ้นอีกถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือไม่เราก็ยังไม่แน่ใจเลย ทางเดียวที่ตลาดจะรับมือกับอุปทานล้นโลกขนาดนี้ได้โดยที่ราคาจะไม่ลดลงมีทางเดียวคือ กลุ่มโอเปกต้องลดการผลิตมากกว่านี้ แต่ดูจากทิศทางของการประชุมล่าสุดแล้ว หลายๆประเทศในกลุ่มก็เริ่มสุ้ไม่ไหวแล้ว ลดการผลิตลงมาเยอะขนาดนี้ก็ไม่สามารถรักษารายได้ในประเทศให้คงที่ไว้ได้แล้ว

3) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนคงไม่จบง่ายๆ

เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย ระหว่างการเจรจาทั้งสองฝ่าย ... หากจะมองจากมุมของเศรษฐศาสตร์จริงๆ นักวิเคราะห์หลายๆคนก็คงมองว่าการเจรจาน่าจะบรรลุภายในปีนี้ เพราะทั้งคู่กำลังทำร้ายตัวเองและเศรษฐกิจของโลกอยู่ 

แต่หากมามองในมุมของความเป็นจริงแล้ว (อย่างที่ Ray Dalio บอกให้มอง) ทั้งสองคงไม่มีวันตกลงกันง่ายๆ เพราะนี่มันไม่ใช่การเจรจากันเรื่องของผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ของแต่ละประเทศแล้ว แต่มันเป็นเรื่องของความมั่นคงของชาติ การแย่งกันเป็นผู้นำของโลกด้านเทคโนโลยี ซึ่งต่อให้จีนต้องเจ็บตัว GDP โตเฉียดหลุด 6% ไปอีกซักปี จีนก็คงยอมเพราะผุ้นำฝั่งตัวเองมีตำแหน่งตลอดชีวิต แต่เดี๋ยวปลายปีหน้าผู้นำสหรัฐก็อาจจะไม่อยู่แล้ว ยอมเจ้บตัวยื้อไปก่อนคงดีกว่าจะไปยอมรับเงื่อนไขที่อาจโดนผูกมัดไปอีกยาว

การที่ สี จิ้นผิง ต้องยอมจับมือกับทรัมป์กลางประชุม G20 นั้น คงเป็นเพียงความจำเป็น ที่ถ้าไม่ยอมตกลงเจรจาก็คงดูเป็นคนร้ายในสายตาชาวโลก คงจะยอมตกลงให้ทรัมป์ตายใจไปงั้นๆก่อนเพื่อซื้อเวลา เพราะถ้าให้ดูตามความเป็นจริงแล้ว จีนยังถือไพ่เหนือกว่าในระยะยาว ยังไงก็ขอแค่พยุงไม่ให้เศรษฐกิจแย่ไปกว่านี้ไปก่อน เพราะฉะนั้นผมจึงอยากตัดความหวังที่สงครามการค้าจะยุติมาช่วยดันราคาให้สูงกว่า 70 เหรียญออกไปก่อนเลยครับ 

------------------------------

จริงๆแล้วมีเหตุผลอีก 2-3 เรื่องที่ทำให้ผมยังมองว่าราคาคงไม่ไปสูงกว่า 70 เหรียญ แต่แค่นี้ก็คงมีน้ำหนักเพียงพอแล้ว มากกว่านี้เดี๋ยวจะยาวไป แต่ถ้าถามว่า ยังมีเหตุผลอะไรอีกไหมที่จะยังพอทำให้ราคาขึ้นไปสูงทะลุระดับของปีนี้ได้ 

เรื่อง FED อาจกกลับมาลดดอกเบี้ยนั้นช่วยได้ไหม ? ช่วยได้แน่นอนครับ แต่คงไม่ถึงกับระดับที่จะทำให้ราคาน้ำมันขึ้นไปทะลุ 70 เหรียญ เพราะสภาพคล่องของเงินไม่ได้ช่วยให้การใช้น้ำมันสูงขึ้นโดยตรง และตอนนี้ตลาดก็ได้รับรู้ถึงการอาจลดดอกเบี้ยนี้ไปมากแล้ว ดูได้จากราคาหุ้นสหรัฐที่ทำ New high ใหม่ตลอดเวลาครับ 

เหตุผลที่อาจทำให้ราคาขึ้นทะลุได้จริงๆ ตอนนี้ผมมองไว้สองอย่างเท่านั้นครับ 

1) ฤดูเฮอริเคนของสหรัฐนี้ หากมีลูกไหนกระทบการผลิตในอ่าว Mexico จังๆ และทำให้การผลิตต้องปิดไปเป็นเวลานานก็อาจจะเป็นหนึ่ง เหตุผล

2) หากเกิดการสู้รบกันในตะวันออกกลางขึ้นมาจริงๆ จนไปกระทบต่อการขนส่งน้ำมันในช่องแคบ Hormuz

--------------------------

นี่คือการวิเคราะห์ล่าสุดของทางเพจครับ ซึ่งยังไม่รวมถึงปีหน้า เพราะว่าเราจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การใช้น้ำมันครับ นั้นคือมาตรการ IMO 2020 ซึ่งเดี๋ยวจะหาเวลามาอธิบายให้ฟังแน่ๆครับ เพราะจะกระทบต่อทุกๆห่วงโซ่ธุรกิจน้ำมันเลยทีเดียว
ท่านใดมีความเห็นอย่างไรต่อบทวิเคราะห์นี้ กรุณาช่วยกันแชร์ความเห็นมาใน comment ได้เลยนะครับ ขอบคุณครับ

#วิเคราะห์ราคาน้ำมัน #ทิศทางราคาน้ำมัน #OilPrice #Brent #OPEC #Tradewar #Iransanctions #IMO2020

Comments

Popular posts from this blog

"รูปปั้นโอกาส"

ราคาน้ำมันในไทยนั้นอ้างอิงมาจากสิงคโปร์ แต่ราคาที่สิงคโปร์นั้นเค้ากำหนดมาอย่างไร ?

IMO 2020 คืออะไร ? การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของตลาดน้ำมัน