กลุ่มโอเปกนั้นมีจุดประสงค์และกลไกลในการควบคุมตลาดน้ำมันอย่างไร ?



กลุ่มโอเปกนั้นมีจุดประสงค์และกลไกลในการควบคุมตลาดน้ำมันอย่างไร ? แล้วการประชุม ในวันที่ 6 ธค นี้มีความสำคัญแค่ไหน ? จะออกมาในทิศทางอย่างไร

สรุป – ทางเรามองว่าตอนนี้ตลาดได้รับรู้ข่าวและ Price in ว่าโอเปกและพันธมิตรจะลดการผลิตรวม 1 – 1.4 ล้าน บาร์เรลต่อวัน โดยหากลดเพียงเท่านี้หรือน้อยกว่า คาดว่าตลาดอาจจะลงต่อ และต้องจับตาดูว่าเหตุการณ์นี้จะเหมือนกับการประชุมในปี 2557 หรือไม่ เพราะถ้าไม่มีการลดกำลังการผลิตจริง อาจเป็นการส่งสัญญาณถึงความไม่มีเสถียรภาพของกลุ่ม และตลาดอาจซบเซาไปได้กว่า 1-2 ปีเหมือนคราวนั้นเลยทีเดียว 
____________________

กลุ่มโอเปก คืออะไร ?

องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน โอเปก หรือ Organization of Petroleum Exporting Countries (OPEC) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2503 เริ่มด้วยสมาชิก 5 ประเทศ ประกอบไปด้วย ซาอุดีอาระเบีย อิรัก อิหร่าน คูเวต และเวเนซุเอลา ซึ่งเพียงแค่ 5 ประเทศนี้รวมกันก็มีหลุมน้ำมันดิบคิดเป็นกว่า 60% ของโลกเลยทีเดียว นับเป็นประเทศพี่ๆ ที่ก่อตั้งโอเปก ก่อนที่จะมีอีก 10 ประเทศน้องๆ ตามในตารางมาเข้าร่วมด้วย และล่าสุดที่สองวันก่อนกาตาร์ขอถอนตัวทำให้สมาชิกจะมีเหลือเพียง 14 ประเทศ
____________________

จุดประสงค์ของกลุ่มโอเปก ?

แบบทางการคือ เพื่อเป็นตัวกลางประสานงานด้านนโยบายน้ำมันระหว่างประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ในการรักษาระดับราคาให้มีความเป็นธรรม และสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศผู้ผลิตปิโตรเลียม ก่อให้เกิดการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

แต่เอาแบบอธิบายง่ายๆ ก็คือ กลุ่มประเทศที่มีหลุมน้ำมันดิบเยอะ และต้องหารายได้จากการขายน้ำมันไปอีกนาน ไม่อยากจะขุดน้ำมันมาขายในราคาถูก จึงรวมตัวกันแล้วดูว่าคนอื่นผลิตน้ำมันออกมาเท่าไหร่ แล้วในกลุ่มจะพยายามผลิตออกมาให้เท่ากับที่ตลาดต้องการ เพื่อที่จะได้ไม่มีของล้นตลาดและราคาจะได้ไม่ต่ำ (บทความอธิบายการคำนวนโควตาโอเปก https://www.facebook.com/OilTradinggg/photos/a.109714799581872/266484877238196/?type=3&permPage=1 )

โดยปริมาณที่กลุ่มจะผลิตออกมานั้น เราเรียกว่า “โอเปกโควตา” โดยกลุ่มจะแบ่งสัดส่วนปริมาณที่เหลือตาม % ของกำลังการผลิตเต็มของแต่ละสมาชิก แล้วพยายามต่างคนต่างผลิตไม่เกินโควตาที่ได้รับไป แล้วตลาดก็จะมีอุปทานออกมาพอดี
____________________

OPEC Spare Capacity – กำลังการผลิตสำรองของโอเปกคืออะไร ?

เนื่องจากทุกๆประเทศในสมาชิกจะได้รับโควตาการผลิตและไม่ควรจะผลิตเกินโควตา ทำให้ทุกๆสมาชิกต่างกับ Non OPEC ตรงที่ไม่ได้ผลิตเต็มกำลัง 100% จากในตารางจะดูได้ว่าทุกๆประเทศมีกำลังการผลิตสำรองหลงเหลืออยู่ หรือที่เราเรียกว่า OPEC Spare Capacity ซึ่งมีความสำคัญต่อตลาดมากเพราะ นักวิเคราะห์จะใช้เลขนี้วัดขีดความสามารถของโอเปกที่จะสามารถผลิตน้ำมันออกมาทดแทนได้ทันทีหากเกิดเหตุการณ์อุปทานไม่เพียงพอ

โดยในปี 2550-51 ที่ความต้องการจีนโตสูงมากจน OPEC ต้องผลิตออกมาเพิ่มจน Spare capacity หล่นไปอยู่ทีระดับเกือบต่ำกว่า 1 ล้านลาร์เรลต่อวัน ก็ก่อให้เกิดความกังวลว่าอาจจะไม่มีอุปทานเพียงพอในตลาดหากเกิดการหยุดชะงักของอุปทานที่ไหนในโลกขึ้นมา ทำให้ราคาวิ่งขึ้นไปสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 140 เหรียญเลยทีเดียว
____________________

ปัจจุบันกลุ่มโอเปกผลิตน้ำมันแค่ 33% ตอนนี้ แล้วจะคุมตลาดได้หรือ ?

ถ้าพูดกันตรงๆ คือบทบาทของโอเปกในสมัยนี้นั้นลดลงไปจริงๆ เมื่อเทียบกว่าสมัยก่อนที่โอเปคเคยผลิตเป็น 40-50% ของโลกตามเฉลี่ยปกติ แต่เนื่องจากว่าโอเปคต้องรอให้ผู้ผลิตนอกกลุ่ม (Non OPEC) ผลิตออกมาให้เต็มที่ก่อน ก่อนที่จะผลิตแค่ส่วนที่เหลือตามโควตา ทำให้การเติบโตของผู้ผลิตนอกกลุ่มในช่วงหลังๆ นำโดยอเมริกาและรัซเซียที่ผลิตสูงขึ้นเป็นประวิติการแซงหน้าซาอุไปแล้วในปีนี้ เข้ามาแย่งสัดส่วน Market Share ของตลาดไป

ยิ่งกลุ่ม Non OPEC ผลิตได้เยอะเท่าไหร่ บทบาทของโอเปกก็จะลดลงและยากที่จะคุมตลาด เพราะโควตาที่เล็กลงเรื่อยๆ ก็จะทำให้ประเทศสมาชิกต่างๆ ที่ต้องพึ่งรายได้ทางน้ำมันเกิดปัญหาภายใน และยากที่จะคุมเสียงของกลุ่มให้ไปในทิศทางเดียวกัน
____________________

แล้วบทบาทของกลุ่มโอเปกในระยะยาวล่ะ ?

ถึงแม้ว่าปัจจุบันโอเปกจะผลิตน้ำมันแค่ 33% ของโลกตอนนี้ แต่กลุ่มโอเปกก็ยังถือหลุมน้ำมันในโลกอยู่กว่า 73% โดยแน่นอนว่าในระยะยาว ยังไงผู้ที่คุมหลุมน้ำมันก็ยังมีอำนาจมากกว่ากลุ่มที่ผลิตได้เยอะ แต่ไม่ได้มีปริมาณสำรองในหลุม นี่เป็นจุดประสงค์ที่โอเปกรวมตัวกันแต่แรกเพราะต้องการให้ผู้ที่มีบ่อน้ำมันเยอะไม่ออกมาผลิตแข่งกันเอง จะได้คุมตลาดไปในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม บทบาทความสำคัญของโอเปกในระยะยาวนั้นก็จะขึ้นอยู่กับ อัตตราการเติบโตของ Non OPEC , เทคโนโลยีในการค้นพบน้ำมันแบบใหม่ๆ , พลังงานทางเลือก , พลังงานทดแทน หรือแม้แต่ผลกระทบจากด้านอุปสงค์ อย่างการพัฒนาแบตเตอรี รถยนต์ไฟฟ้าเป็นต้น นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่โอเปกเองก็ไม่อยากให้ราคาน้ำมันแพงเกินไป เพราะจะไปเร่งให้เทคโนโลยีเหล่านี้เกิดขึ้นมาทำร้ายโอเปกในระยะยาวได้ อย่างที่เราได้เห็นกับ shale oil revolution ที่อเมริกา ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาหลังจากช่วงที่ราคาอยู่สูงเกินกว่า 100 เหรียญนาน (คงต้องเขียนอีกบทความแยกเรื่องนี้ เพราะสำคัญมากครับ)
____________________

แล้วการประชุมของโอเปก สำคัญอย่างไร ? ที่ผ่านมากระทบตลาดอย่างไรบ้าง ?

โอเปกจะนัดประชุมกันทุกๆ 6 เดือนโดยเฉลี่ย หรือเมื่อมีการเรียกประชุมฉุกเฉิน เพื่อมาจัดสรร ระดับของโควตาการผลิตกัน โดยบ่อยครั้งหากสภาพตลาดอยู่ในระดับราคาที่ทุกสมาชิกพึงพอใจ ก็จะไม่ได้มีความสำคัญมาก แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการประชุมสองครั้งที่กระทบตลาดอย่างมากจนต้องขอหยิบมาเล่าให้ฟัง

1) การประชุมเดือน พฤศจิกายน 2557 – ในช่วงครึ่งปีหลังของ 2557 หลังจากที่ Shale oil จากอเมริกาเริ่มไหลเข้ามาในตลาดเรื่อยๆ ราคาน้ำมันก็ได้ทิ้งดิ่งจากที่เคยยืนได้สูงกว่า 100 เหรียญอยู่สามปีกว่า ลงมาประมาณ 70 เหรียญอย่างรวดเร็ว ตอนนั้นทางโอเปกก็ทราบดีว่าตลาดกำลังมีอุปทานล้น นักวิเคราะห์ต่างๆ ก็มองว่าโอเปกต้องออกมาลดโควตาการผลิต
แต่โอเปกกับทำให้ตลาดต้องตะลึง เมื่อจบการประชุมแบบไม่มีการลดโควตาการผลิต เนื่องจากว่าหลายๆ สมาชิกต้องการรักษารายได้ของประเทศและไม่สามารถเสี่ยงลดกำลังการผลิตได้ ส่งผลให้ราคาลงมากว่า 7 เหรียญหรือ 10% ในวันนั้นวันเดียว และก็หล่นต่ำไปถึง 30 เหรียญและซบเซาไปกว่าสองปี

2) การประชุมเดือน พฤศจิกายน 2559 – หลังจากที่ราคาน้ำมันซบเซามากว่า 2 ปีที่ราคา 30-50 เหรียญ และไม่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นกว่ากรอบนี้ได้เพราะปริมาณการผลิตของโอเปกเองก็ยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มโอเปกเห็นพ้องต้องกันที่จะลดโควตาการผลิตลง 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาปรับตัวขึ้นกว่า 8% ในวันนั้น และสภาพตลาดที่สมดุลขึ้นก็ทำให้ราคาค่อยขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นต้นมาตั้งแต่ตอนนั้

อย่างที่ยกตัวอย่างให้ฟัง จะเห็นว่าการปรับเปลี่ยนโควตาการผลิตของโอเปคนั้น จะมีผลกระทบต่อตลาดอย่างมากและบางทีจะกระทบตลาดไปได้ต่อนานเป็นปีสองปีเลยทีเดียว
____________________

การประชุมในวันที่ 6 ธค นี้ล่ะ ? ตลาดมองว่าอย่างไรบ้าง ?

เหตการณ์ปัจจุบันอาจจะคล้ายกับปี 2557 ที่ตอนนี้อุปทานกำลังล้นตลาด และราคาน้ำมันได้ลงมาจากระดับสูงสุดกว่า 20-30% อย่างรวดเร็ว และตลาดก็เริ่มสร้างฐานได้ก่อนการประชุม เพราะตอนนี้ทั้งตลาดและนักวิเคราะห์ก็ได้คาดการณ์ว่าโอเปกคงต้องออกมาลดโควตาอย่างแน่นอน โดยทางพี่ใหญ่อย่างซาอุที่ผลิตประมาณ 33% ของกลุ่ม ก็ได้บอกแล้วว่าจะออกมาลดกำลังการผลิตกว่า 5 แสนบาร์เรลต่อวัน และเรียกร้องขอให้พันธมิตรช่วยลดการผลิตกันด้วย

ซึ่งโดยปกติถ้าพี่ใหญ่อย่างซาอุมีความชัดเจน ส่วนมากก็จะช่วยคุมน้องๆ และพยุงตลาดได้ อย่างไรก็ตาม อย่างที่ได้เรียนไปในบทความก่อนหน้าว่า อิทธิผลในตลาดครั้งนี้อาจจะไม่ได้อยู่กับแค่ซาอุคนเดียวแล้ว (https://www.facebook.com/OilTradinggg/photos/a.109714799581872/269747046911979/?type=3&permPage=1) และอาจจะต้องการความช่วยเหลือจากพันธมิตรหลักอย่างรัสเซีย แต่อย่างที่ทางเราได้อัพเดทข่าวไปเรื่อยๆว่า ท่าทีของรัสเซียยังไม่แน่นอนเลย โดยหลังจากจับมือกับผู้นำซาอุไปที่การประชุม G20 ว่าควรจะร่วมมือกันต่อไป กลับออกมาให้ข่าววันหลัวว่าจะลดเพียงแค่ 150,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือว่าน้อยมากๆ และตอนนี้ก็มีปัจจับทางการเมืองระหว่างประเทศมากดดันทั้งสองประเทศผู้ผลิตหลัก จากอเมริกาอยู่ไม่น้อย ซึ่งทรัมป์ก็ชัดเจนว่าอยากให้ราคาลง และอาจเอาเรื่องนักข่าวซาอุกับเรือรบยูเครนเข้ามากดดันทั้งสองประเทศได้ ส่วนประเทศอื่นๆ ในกลุ่มที่ได้ออกมาให้ข่าวก็มีเสียงที่จะค่อนข้างแตกต่อการลดกำลังการผลิตในครั้งนี้

ทางเรามองว่าตอนนี้ตลาดได้รับรู้และ Price in ว่าโอเปกและพันธมิตรจะลดการผลิตรวม 1 – 1.4 ล้าน บาร์เรลต่อวัน โดยหากลดเพียงเท่านี้หรือน้อยกว่า คาดว่าตลาดอาจจะลงต่อ และต้องจับตาดูว่าเหตุการณ์นี้จะเหมือนในปี 2557 หรือไม่ เพราะถ้าไม่มีการลดกำลังการผลิตจริง อาจเป็นการส่งสัญญาณถึงความไม่มีเสถียรภาพของกลุ่ม และตลาดอาจซบเซาไปได้กว่า 1-2 ปีเหมือนคราวนั้นเลยทีเดียว

ที่มา: Bloomberg + Wikipedia

Comments

Popular posts from this blog

"รูปปั้นโอกาส"

ราคาน้ำมันในไทยนั้นอ้างอิงมาจากสิงคโปร์ แต่ราคาที่สิงคโปร์นั้นเค้ากำหนดมาอย่างไร ?

IMO 2020 คืออะไร ? การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของตลาดน้ำมัน